สภาพภูมิประเทศของลุ่มน้ำน่าน มีรูปร่างคล้ายขนนก คือ แคบและเรียวยาว มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาหลวงพระบาง อันเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนลาว สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง ความสูงในพื้นที่ริมแม่น้ำอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 220 ม.รทก. ความลาดชันประมาณ 1:480 ในเขตอำเภอทุ่งช้างและอำเภอเชียงกลาง จากนั้นแม่น้ำน่านไหลลงสู่ที่ราบและหุบเขาในเขตอำเภอเมือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยมีลำน้ำสาขาหลายสายไหลมาบรรจบ เช่น น้ำว้า น้ำยาว น้ำแหง ฯลฯ พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบสูงมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 180-220 ม.รทก. มีความลาดชันประมาณ 1:3,500 จากนั้นแม่น้ำน่าน จะไหลผ่านเขตอำเภอเวียงสา ผ่านหุบเขาลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ โดยมีความลาดชันมากขึ้นเป็น 1:5,300 ก่อนลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำน่านตอนล่าง มีลักษณะเป็นภูเขาสูงในฝั่งตะวันออกและลาดเทลงสู่ตะวันตก ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ตั้งแต่ใต้เขื่อนทดน้ำนเรศวร ลงไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์มีระดับเฉลี่ยประมาณ 27 ม.รทก. โดยมีความลาดชันลำน้ำลดลงเหลือประมาณ 1:13,600
ลำน้ำสาขาที่สำคัญประกอบด้วย น้ำว้า มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหลวงพระบางไหลมาบรรจบทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่านที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน น้ำปาด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายใหญ่ มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหลวงพระบางเช่นกัน ไหลมาบรรจบทางฝั่งซ้าย ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ แม่น้ำแควน้อย ลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุด ไหลมาบรรจบที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และแม่น้ำวังทอง ไหลมาบรรจบทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่านที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิจิตร
ขนาดพื้นที่รับน้ำของแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำน่าน
รหัสลุ่มน้ำย่อย | ชื่อลุ่มน้ำย่อย | พื้นที่รับน้ำ (ตร.กม.) |
09.02 | แม่น้ำน่านตอนบน | 2,265 |
09.03 | ห้วยน้ำยาว (1) | 863 |
09.04 | แม่น้ำน่านส่วนที่ 2 | 1,501 |
09.05 | น้ำยาว (2) | 600 |
09.06 | น้ำสมุน | 620 |
09.07 | แม่น้ำน่านส่วนที่ 3 | 3,364 |
09.08 | น้ำสา | 753 |
09.09 | น้ำว้า | 2,233 |
09.10 | น้ำแหง | 1,034 |
09.11 | แม่น้ำน่านส่วนที่ 4 | 2,613 |
09.12 | น้ำปาด | 2,505 |
09.13 | คลองตรอน | 1,270 |
09.14 | แม่น้ำแควน้อย | 4,490 |
09.15 | น้ำภาค | 987 |
09.16 | แม่น้ำวังทอง | 2,005 |
09.17 | แม่น้ำน่านตอนล่าง | 7,228 |
ที่มา : กรมชลประทาน (2546)