สภาพภูมิประเทศลุ่มน้ำยม บริเวณพื้นที่ตอนบนแม่น้ำยมในเขตอำเภอปง จังหวัดพะเยา มีสภาพเป็นเทือกเขาสูงตามลำน้ำอยู่ระหว่างระดับ 280-360 ม.รทก. โดยมีความลาดชันประมาณ 1:310 ต่อจากนั้น แม่น้ำยมไหลผ่านที่ราบเชิงเขาในเขต อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีระดับความสูงที่ 180-280 ม.รทก. ความลาดชันตามท้องน้ำประมาณ 1:1,180 แม่น้ำยมไหลผ่านพื้นที่ราบหุบเขาในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย ระดับความสูงของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำอยู่ที่ระดับ 50-180 ม.รทก. โดยมีความลาดชันประมาณ 1:2,100 พื้นที่ตอนล่างแม่น้ำยมเป็นที่ราบในเขต อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตรและพื้นที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 20-50 ม.รทก. ความลาดชันตามลำน้ำประมาณ 1:8,500
ลำน้ำสาขาที่สำคัญประกอบด้วย ลำน้ำงาว ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ น้ำแม่สองบรรจบกับแม่น้ำยมที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ แม่น้ำรำพัน บรรจบกับแม่น้ำยมที่อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำพิจิตรบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร
ขนาดพื้นที่รับน้ำของแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำยม
รหัสลุ่มน้ำย่อย | ชื่อลุ่มน้ำย่อย | พื้นที่รับน้ำ (ตร.กม.) |
08.02 | แม่น้ำยมตอนบน | 1,978 |
08.03 | แม่น้ำควน | 858 |
08.04 | น้ำปี้ | 636 |
08.05 | แม่น้ำงาว | 1,644 |
08.06 | แม่น้ำยมตอนกลาง | 2,884 |
08.07 | น้ำแม่คำมี | 444 |
08.08 | น้ำแม่ต้า | 518 |
08.09 | ห้วยแม่สิม | 522 |
08.10 | น้ำแม่หมอก | 1,333 |
08.11 | น้ำแม่รำพัน | 895 |
08.12 | แม่น้ำยมตอนล่าง | 11,906 |
ที่มา : กรมชลประทาน (2546)